หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ

ปรัชญา

               ผลิตครูและบุคลากรด้านภาษาไทยที่มีคุณภาพ มีความรู้คู่คุณธรรม สามารถบูรณาการความรู้ ทักษะ เจตคติ คุณธรรม และจริยธรรมแห่งวิชาชีพไปสู่การจัดการศึกษาและพัฒนาครู ให้เป็นคนดี  มีสติปัญญา ความสามารถ และอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุข รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และสามารถเผชิญปัญหาหรือวิกฤติได้ด้วยสติปัญญา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่น

ความสำคัญ

          ปีพุทธศักราช 2562 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลอย่างสมบูรณ์ สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ผลิตครู จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยมีความั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนภายใต้บริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรม สิ่งที่จะต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ภาวะการแข่งขัน การทำงานร่วมกับผู้อื่น การเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง ตลอดจนการแสวงหาพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาของนักเรียนไทย คือ ขาดความเข้มแข็งในด้านความรู้และทักษะพื้นฐานในการทำงานด้านการใช้ภาษาและการคิดขั้นสูง (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2560: 48)

         ในการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะกับการพัฒนานวัตกรรมที่สอดรับกับการศึกษายุค 4.0 และศตวรรษที่ 21 ควรมีลักษณะยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เช่น หลักสูตรแบบโมดูลที่ออกแบบเป็นหน่วยการเรียนที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จในตนเองและเน้นสมรรถนะของผู้เรียนเป็นสำคัญ (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554) บูรณาการข้ามสาขาวิชา เน้นแก่นความรู้ที่สำคัญ แนวคิดหลัก เน้นการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงและทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้ (สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์และคณะ, 2556; Wangner, 2012) รวมถึงพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับยุค 4.0 เช่น การคิดวิเคราะห์ การคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นหลักสูตรเน้นสมรรถนะจึงเหมาะกับการศึกษายุค 4.0

         ความต่อเนื่องของแนวทางในการพัฒนาประเทศชาติมีความสอดคล้องกันอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11-12 ให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่ยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) อยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมในหลายด้าน เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งทางด้านการศึกษา ทักษะด้านภาษา ทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงการพัฒนากลไกต่าง ๆ เป็นต้น (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2560) ซึ่งจุดเน้นของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนามนุษย์โดยตรง ดังที่แผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2560 – 2579)  มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสและความเสมอภาคในการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานและ การพัฒนาประเทศ (สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, 2560: ก)

         ด้วยเหตุนี้จึงควรผลิตครูผู้สอนภาษาไทยที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการ มีจิตวิญญาณความเป็นครู ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย รวมทั้งผลิตครูที่มีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ ตลอดจนเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของผู้อื่นมีทัศนคติและดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีความสุข


วิสัยทัศน์

บัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทยจะมีความเป็นเลิศในทางวิชาการ ใช้ภาษาไทยในการแสวงหาองค์ความรู้ เชี่ยวชาญในวิชาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม มีคุณภาพตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสังคม

พันธกิจ

         มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลามีพันธกิจที่สำคัญในการผลิตบัณฑิต พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะในศาสตร์สาขาวิชาที่ศึกษา และมีความสามารถในการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างต่อเนื่อง  การผลิตบุคลากรทางด้านการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย จึงเป็นพันธกิจที่สำคัญส่วนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนและส่งเสริมตลอดมา