หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอาหรับ มีความมุ่งมั่นพัฒนาและผลิตบัณฑิตสู่ความเป็นเลิศทางด้านภาษาอาหรับ มีคุณธรรม จริยธรรมทางวิชาการ และมีคุณลักษณะตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ทั้ง 5 ด้าน อย่างมีคุณภาพ ได้แก่ ด้านคุณธรรม จริยธรรม ด้านความรู้ ด้านทักษะทางปัญญา ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
เนื่องจากภาษาอาหรับเป็นภาษาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นภาษาของคัมภีร์อัลกุรอานที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบศาสนกิจ อีกทั้งยังเป็นภาษาสำหรับการเรียนรู้และการค้นคว้า โดยเฉพาะวิชาการศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ภาษาอาหรับยังเป็นภาษาธุรกิจ และสื่อสาร ภาษาการท่องเที่ยว และการแพทย์ จากสถิติปี 2553 รายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวเฉพาะประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประเทศเดียวมีมากถึง 6,836.56 ล้านและในปี 2555 จำนวนรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 9,924.77ล้านบาท (งานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ, 2554) จากรายงานวิจัย สกว. เรื่อง ตลาดนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลาง ต่อนโยบายการท่องเที่ยวไทยพบว่าช่วงเวลาระหว่างปี 2551-2555 จำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเข้ามาประเทศไทยขยายตัวโดยรวม ร้อยละ 6.75 โดยมีประเทศคูเวตและซาอุดิอาระเบียขยายตัวสูงที่สุดและวัตถุประสงค์หลักๆของนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง คือ เพื่อการท่องเที่ยว ธุรกิจ และรับบริการทางสุขภาพ (ไพฑูรย์ ไกรพรศักดิ์, 2551)
ซึ่งจากสถิติทั้งหมดที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าการบริการที่ต้องใช้ภาษาอาหรับสามารถทำรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมากมาย ด้วยความสำคัญดังกล่าวทำให้ผู้ปกครองมีความต้องการให้บุตรหลานได้รับการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ด้านภาษาอาหรับ ควบคู่กับวิชาสามัญตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการและความรู้ทางด้านศาสนาอิสลามด้วย
ความต้องการดังกล่าวส่งผลให้เกิดโรงเรียนประเภทโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับ และสถานศึกษาอื่นๆ ที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรอิสลามศึกษาอีกเป็นจำนวนมาก เพราะโรงเรียนประเภทนี้จัดการศึกษาตามหลักสูตรวิชาสามัญและหลักสูตรวิชาอิสลามศึกษาที่มีการสอนที่เน้นภาษาอาหรับและมลายูสนองตอบตามความต้องการของประชาชน
และจากการศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรนี้พบว่า นักเรียน ผู้ปกครองมีความประสงค์ที่จะเรียนด้านอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ ในระดับมาก เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตที่สามารถใช้ภาษาอาหรับในการประกอบพิธีทางศาสนาและยังสามารถประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเห็นว่าการผลิตบัณฑิตด้านภาษาอาหรับสามารถเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับคุณภาพเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้นยังเป็นการดำเนินการสอดคล้องกับพันธกิจและปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่ว่า“เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น โดยใช้กระบวนการทางการศึกษา กระบวนการพัฒนาองค์ความรู้บนพื้นฐานการบูรณาการศาสตร์สากลและภูมิปัญญาท้องถิ่น”