ฝ่ายวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

อาจารย์ธนวัฒน์ พรหมสุข เข้าเฝ้าถวายรายงาน แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตกรรมชุมชนภาคใต้ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทรงติดตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการรักษาสมบัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปหัตถกรรมทอผ้าของแต่ละท้องถิ่นทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป สร้างความเชื่อมโยงกันในจังหวัดภาคใต้ และประชาสัมพันธ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP

ภายในงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการภูมิปัญญาผ้าไทยภาคใต้ ผ้าบาติก ผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดทั้ง 14 จังหวัด การแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าของกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย เครื่องจักสาน จำนวน 53 กลุ่ม โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและแฟชั่นแถวหน้าของเมืองไทยให้คำปรึกษาแนะนำการยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น

โอกาสนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าตามพระวินิจฉัย ครั้งเสด็จทอดพระเนตรการจัดแสดงและสาธิตผลิตภัณฑ์ผ้าทอประจำถิ่นลวดลายต่าง ๆ และหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 และมีพระวินิจฉัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แก่ กลุ่มทอผ้า กลุ่มผ้าบาติก ผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย และคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ท้องถิ่น การเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการบอกเล่าเรื่องราวประจำภูมิภาค ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยอาจารย์ธนวัฒน์ พรหมสุข รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม อาจารย์ผู้รับผิดชอบกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส พร้อมด้วยนางสาวจิรชยา ฉวีอินทร์  นักวิชาการช่างศิลป์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เจ้าหน้าผู้รับผิดชอบกิจกรรมฯ และสมาชิกกลุ่มทอผ้า “ภายใต้โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ได้เข้าร่วมถวายรายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้า จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มทอผ้าบ้านไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ถวายรายงานการรื้อฟื้นผ้ายกตานี 161 ตะกอ ในรูปแบบโบราณ
2. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านสายบน จังหวัดนราธิวาส ถวายรายงานผ้าทอเทคนิคเกาะล้วง ไหมบ้านย้อมสีธรรมชาติจากพืชพื้นถิ่น

แกลเลอรี่