หลักสูตรศิลปศาตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย จัดกิจกรรมการแสดงละครเวที เรื่อง มัทนะพาธา ในรายวิชา วรรณคดีการแสดง ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3

7 เมษายน 2566 (ผู้ดูแลระบบ) กิจกรรมพัฒนานักศึกษาในรายวิชา

หลักสูตรศิลปศาตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย จัดกิจกรรมการแสดงละครเวที เรื่อง มัทนะพาธา ในรายวิชา วรรณคดีการแสดง ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 หลักสูตรศิลปศาตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย จัดกิจกรรมการแสดงละครเวที เรื่อง มัทนะพาธา ในรายวิชา วรรณคดีการแสดง ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เพื่อเผยแพร่วรรณคดีไทยให้กับนักศึกษาและผู้ที่สนใจวรรณคดีไทย และเพื่อบูรณาการการเรียนการสอนกับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย เวลา 13.00 - 16.30 น. ณ ห้องฉาย อาคาร 35 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

 

นางในวรรณคดี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

มัทนา: กุหลาบงามกับความรักอันเด็ดเดี่ยว

ผู้เขียน สายป่าน ปุริวรรณชนะ
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา

หากกล่าวถึงดอกกุหลาบในฐานะดอกไม้แห่งความรัก เชื่อแน่ว่าคนไทยหลายคนไม่เพียงแต่รับรู้คตินิยมเกี่ยวกับดอกไม้ชนิดนี้ในวัฒนธรรมตะวันตกเท่านั้น แต่น่าจะนึกไปถึงพระราชนิพนธ์เรื่อง “มัทนะพาธา” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยเช่นกัน เนื่องจากพระราชนิพนธ์เรื่องนี้เล่าถึง “นางมัทนา” นางเอกของเรื่องว่าเป็นต้นกำเนิดของกุหลาบดอกแรกในโลกไว้ดังนี้

นางมัทนาเป็นนางฟ้าผู้มีความงามเป็นที่ต้องใจของสุเทษณ์เทพบุตร สืบเนื่องมาจากในอดีตชาตินางมัทนาเคยเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์แคว้นสุราษฎร์ ส่วนสุเทษณ์เกิดเป็นกษัตริย์แคว้นปัญจาลซึ่งยกทัพมาตีแคว้นสุราษฎร์เพื่อชิงนาง พอได้ชัยชนะก็ขู่ว่าจะประหารพระบิดาของนางเสีย นางมัทนาในชาตินั้นจึงเข้าถวายตัวเพื่อแลกกับชีวิตท้าวสุราษฎร์ จากนั้นกลับใช้พระขรรค์ปลิดชีวิตตัวเองต่อหน้าท้าวปัญจาลเพราะยึดถือความสัตย์ว่าจะไม่ยอมให้ใครฝืนใจตนเอง

เมื่อทั้งสองได้ไปกำเนิดใหม่บนสวรรค์สุเทษณ์ก็ยังคงปักใจรักมั่นต่อมัทนาทว่านางกลับยืนกรานไม่รับรัก แม้สุเทษณ์พยายามสอบถามว่านางรักผู้อื่นเป็นเหตุให้ไม่รักใช่หรือไม่ แต่นางกลับยืนกรานว่านางไม่ได้มีความรักอยู่เป็นเหตุให้สุเทษณ์กริ้วถึงแก่สาปนางมัทนาให้เป็น “ดอกกุพชะกะ” หรือดอกกุหลาบในโลกมนุษย์ จะกลายร่างเป็นหญิงสาวได้ก็แต่เฉพาะคืนวันเพ็ญเท่านั้น ต่อเมื่อมีความรักจึงจะอยู่ในรูปมนุษย์ได้อย่างถาวร เพื่อให้นางได้รู้จักกับความรัก ทว่าก็ขอให้นางต้องระทมทุกข์เพราะความรักนั้น และหากนางเป็นทุกข์เพราะรักเมื่อไรก็ให้ทำพลีกรรมบูชาสุเทษณ์เพื่อขออภัยโทษ

บนโลกมนุษย์พระฤๅษีกาละทรรศินพบต้นกุหลาบและทราบว่าไม่ใช่ต้นไม้ธรรมดาจึงขุดเอานางมัทนาจากในป่าหิมพานต์ไปปลูกไว้ในอาศรม เมื่อถึงคืนวันเพ็ญนางก็กลายเป็นมนุษย์มารับใช้พระฤๅษี พระฤๅษีกาละทรรศินจึงรักเอ็นดูนางเหมือนธิดาแท้ๆ อยู่มาวันหนึ่งท้าวชัยเสนกษัตริย์แห่งหัสตินาปุระออกประพาสป่า ได้ไล่ตามกวางมาจนถึงอาศรมของพระกาละทรรศิน ทำให้ได้พบนางมัทนาและเกิดความรักอย่างลึกซึ้งต่อกันตั้งแต่แรกพบ ดังความทรงพรรณนาไว้อย่างไพเราะว่า

 

“อ้าอรุณแอร่มระเรื่อรุจี
			ประดุจมโนภิรมย์ระตี		ณ แรกรัก!
				แสงอรุณวิโรจน์นภาประจักษ์
			แฉล้มเฉลาและโสภินัก 	นะฉันใด,
				หญิงและชาย ณ ยามระตีอุทัย
			สว่าง ณ กลางกมลละไม	ก็ฉันนั้น;
				แสงอุษาสกาวพะพราว ณ สรรค์
			ก็เหมือนระตีวิสุทธิอัน		สว่างจิต!
				อ้าอนงคะเชิญดำเนินสนิท
			ณ ข้างดนุประดุจสุมิตร์	มโนมาน,
				ไปกระทั่ง ณ ฝั่งอุทกอจีรธาร
			และเปล่งพจี ณ สัจจการ	ประกาศหมั้น,
				ต่อพระพักตร์สุราภิรักษะอัน
			เสด็จสถิต ณ เขตอรัณ-	ยะนี่ไซร้,
				ว่าดนูและน้องจะเคียงคระไล
			และครองตลอด ณ อายุขัย	บ่คลาดคลา!”

 

ความรักที่นางมัทนามีต่อท้าวชัยเสนทำให้นางมัทนาไม่ต้องกลายเป็นดอกกุหลาบอีก ท้าวชัยเสนจึงนำนางกลับเมืองหัสตินาปุระเพื่ออภิเษกเป็นมเหสี ทั้งสองรักกันมากจนนางจัณฑี มเหสีเดิมของท้าวชัยเสนที่แต่งงานกันเพราะการเมืองหึงหวงและริษยานางมัทนา นางจัณฑีจึงทำอุบายให้ท้าวมคธผู้เป็นบิดายกทัพมาตีเมืองหัสตินาปุระ

ระหว่างที่ท้าวชัยเสนออกรบนางจัณฑีก็ร่วมกับพราหมณ์วิทูรและนางค่อมอราลีคนรับใช้ทำอุบายว่านางมัทนาลักลอบเป็นชู้กับศุภางค์ ทหารเอกของท้าวชัยเสน เมื่อท้าวชัยเสนกลับมาถึงเมือง รู้ไม่ทันอุบายของนางจัณฑีก็พิโรธมาก รับสั่งให้ประหารนางมัทนากับศุภางค์เสีย แต่นันทิวรรธนะผู้เป็นเพชฌฆาตกลับปล่อยตัวทั้งคู่ไป นางมัทนาหนีกลับไปยังอาศรมของพระฤๅษีกาละทรรศิน ส่วนศุภางค์ก็ออกรบจนตัวตาย

ต่อมาพราหมณ์วิทูรมาสารภาพผิดทำให้ท้าวชัยเสนเสียใจมากรีบออกตามนางมัทนา ทว่าก็ไม่ทันการณ์เพราะนางมัทนาซึ่งมาถึงอาศรมก่อนได้ทำพลีกรรมแด่สุเทษณ์เทพบุตรแล้ว แต่เมื่อสุเทษณ์เสด็จลงมาพบและจะรับนางเป็นชายา นางกลับยืนกรานปฏิเสธด้วยความรักอันมั่นคงที่มีต่อท้าวชัยเสน และร้องขอให้สุเทษณ์ช่วยเหลือให้นางกับชัยเสนได้ครองรักกันดังเดิม สุเทษณ์กริ้วหนักจึงสาปให้นางกลายเป็นดอกกุหลาบไปอย่างถาวร เมื่อท้าวชัยเสนมาถึงจึงเห็นแต่ดอกกุหลาบซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักแท้เท่านั้น

แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงอธิบายว่า “ละครเรื่องนี้ไม่ได้ใช้เนื้อเรื่องหรือตัดตอนมาจากแห่งใด ๆ เลย” แต่เมื่อทรงพระราชดำริให้นางเอกของเรื่องถูกสาปเป็นดอกกุหลาบ ส่วนฉากของเรื่องทรงสมมุติว่าเป็นดินแดนอินเดียโบราณ ก็ทรงค้นคว้าต่อจนทรงทราบว่า เซอร์ โมเนียร์ โมเนียร์-วิลเลียมส์ แปลชื่อดอก “กุพฺชก” ในปทานุกรมสันสกฤต-อังกฤษว่า “Rosa moschala” เช่นเดียวกับที่ทรงได้นำเอาชื่อเรื่อง “มัทนะพาธา” มาจากศัพท์ของโมเนียร์-วิลเลียมส์ด้วย

การอ่านพระราชนิพนธ์เรื่องนี้นอกจากจะทำให้ได้รับ “รสคำรสความ” ของภาษาที่พระองค์ทรงใช้พระราชนิพนธ์คำฉันท์แล้ว ยังนำมาซึ่งความจับใจในอุปนิสัยอันเด็ดเดี่ยว มีหัวใจมั่นคงต่อความรักแท้ ควบคู่ไปกับการไม่ยอมฝืนใจอยู่ร่วมกับคนที่ตนไม่รักของนางมัทนาซึ่งปรากฏอยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลายทั้งชาติที่เกิดเป็นนางธิดากษัตริย์ ชาติที่เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ และชาติที่เป็นนางมนุษย์ผู้รักเดียวใจเดียวต่อท้าวชัยเสน ภาพลักษณ์ของนางในฐานะกำเนิดของดอกกุหลาบซึ่งเป็นดอกไม้แห่งความรักจึง “ชัดเจน” และ “สมจริง” ในหัวใจและในความทรงจำของผู้ที่มีโอกาสได้อ่าน ได้รับรู้เรื่องราวของพระราชนิพนธ์เรื่อง มัทนะพาธา, หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ ตลอดมา