ฝ่ายวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ผู้บริหาร อาจารย์ คมส. พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่โครงการฯประจำตำบลเบตง ต้อนรับ คณะตรวจเยี่ยมจากสำนักงานปลัดกระทรวง (สป.อว.) ติดตามโครงการ U2T ร่วมผลักดันส้มโชกุน ผลไม้ขึ้นชื่อของเบตง แปรรูปสู่แยมส้มแบรนด์ "ส้มซิ่ง"

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2565 ณ ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อาจารย์ ดร.มะพาริ กะมูนิง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ พร้อมด้วย อาจารย์สุวิมล แซ่ก่อง หัวหน้าโครงการฯตำบลเบตง และเจ้าหน้าที่โครงการฯประจำตำบลเบตง ให้การต้อนรับ นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สป.อว ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG

โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น อาจารย์ ดร.นิรันดิ์เกียรติ ลิ่วคุณูปการ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน และอ.ดร.อัจฉราพร ยกขุน รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ ให้การต้อนรับ ร่วมกับ นายสกุล  เล็งลัคน์กุล  นายกเทศมนตรีเมืองเบตง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและการบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มการจ้างงานบัณฑิตที่พึ่งจบการศึกษาและประชาชนในพื้นที่ พัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับ เศรษฐกิจ BCG และเพื่อพัฒนาฐานข้อมูล Thailand Community Big Data (TCD) ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุม ในทุกพื้นที่ของประเทศ ณ ห้องปฏิบัติการแผนกอาหารและโภชนาการวิทยาลัยการอาชีพเบตง

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการ U2T for BCG มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นผู้ดำเนินการ ครอบคลุม 64 ตำบลในเขตจังหวัดยะลา สำหรับอำเภอเบตง ซึ่งโครงการที่ อว. ร่วมผลักดันให้เกิดผล ได้แก่ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการยกระดับผลิตภัณฑ์ แยมส้มโชกุนเบตง ด้วยวิธีการ Zero Waste จากการจ้างงานของประชาชนในพื้นที่และบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 7 คนที่เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนในครั้งนี้ เพื่อลงไปช่วยประชาชนในพื้นที่ ผู้ประกอบการที่ปลูกส้มโชกุน ซึ่งนับเป็นผลผลิตที่มีจำนวนมากและขึ้นชื่อของอำเภอเบตง

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ยังกล่าวอีกว่า การนำเอา BCG มาปรับใช้กับผลผลิตในชุมชนของอำเภอเบตง ทำให้เกิดทรัพยากรหมุนเวียน และช่วยแก้ไขปัญหาส้มตกเกรดและยากต่อการจำหน่าย ด้วยวิธีการนำเอาส้มตกเกรดมาแปรรูปเป็นแยมส้มแบรนด์ "ส้มซิ่ง" ผสมผสานกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยและสามารถนำเอากลับมาใช้ใหม่ได้ การให้องค์ความรู้ด้าน วทน. แก่ผู้ประกอบการ จะทำให้ส้มโชกุนและธุรกิจแยมส้มเติบโตขึ้น จนทำให้ส้มโชกุนสามารถยกระดับ จนกลายเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึก ที่นักท่องเที่ยว ที่มา อำเภอเบตง ต้องซื้อหากลับไป ต่อไป

แกลเลอรี่